วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

(1)    องค์ประกอบในการเรียนการสอนด้านตัวครู
          ในการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในชาตินั้น  ได้ยึดระบบการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ  พุทธศักราช  2535   ซึ่งเป็นระบบที่ให้บุคคลได้ศึกษาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต โดยจัดรูปแบบการเรียนรู้ตามแนวระบบโรงเรียน   และการศึกษาที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ในวิถีชีวิต   โดยมีระบบดังต่อไปนี้
1.            ระบบการศึกษา
สำหรับการศึกษาตามแนวระบบโรงเรียน   แบ่งระดับการศึกษาเป็น  4   ระดับ  คือ  ระดับก่อนประถมศึกษา  ระดับประถมศึกษา   ระดับมัธยมศึกษา   และระดับอุดมศึกษา
1.การศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา  เป็นการศึกษาในลักษณะของการอบรมเลี้ยงดู  และพัฒนาความพร้อมของเด็กทั้งทางด้านร่างกาย  จิตใจ  สติปัญญา  อารมณ์  บุคลิกภาพ  และสังคมเพื่อรับการศึกษาในระดับต่อไป   การจัดการเรียนรู้ในระดับนี้  เป็นการจัดให้แก่เด็กกลุ่มอายุ  3-5   ปี   โดยจัดเป็นชั้นอนุบาล   หรือชั้นเด็กเล็ก   หรือศูนย์พัฒนาเด็กประเภทต่างๆตามลักษณะพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย
2. การศึกษาระดับประถมศึกษา  เป็นการศึกษาภาคบังคับ  ซึ่งรัฐบาลต้องการให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาระดับนี้อย่างทั่วถึง  เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์  ทั้งคุณธรรม  จริยธรรม   ความรู้และความสามารถขั้นพื้นฐาน  โดยจัดเป็นชั้น ป.1-6   รวม  6  ปี

3.การศึกษาระดับมัธยมศึกษา     แบ่งออกเป็น   2  ตอน
-ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น   การศึกษาระดับนี้  รัฐบาลได้มีนโยบายกำหนดให้เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของประชาชน  และรณรงค์ให้ประชาชนได้มีโอกาสเรียนต่อในระดับนี้อย่างทั่วถึง  โดยจัดเป็นชั้น  ม.1-3 (3  ปี)  มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาคุณภาพ  ความรู้  ความสามารถ  และทักษะต่อจากระดับประถม  การศึกษาในระดับนี้ต้องการให้เรียนได้สำรวจตนเองทั้งในด้านความต้องการ  ความสนใจ  และความถนัดทางด้านวิชาการและวิชาชีพ
-ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย   การศึกษาในระดับนี้  มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนตามความถนัด  และความสนใจ  เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา  หรือเพื่อการประกอบอาชีพ  โดยจัดเป็น  2   ประเภท คือ จัดเป็นการศึกษาสามัญ ชั้นปีที่ 4-5-6 (3 ปี) สำหรับการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา   หรือ   มหาวิทยาลัยต่างๆ และจัดเป็น-การศึกษาวิชาชีพ   หรืออาชีวศึกษาชั้น   ปวช .1-2-3(3 ปี)   สำหรับการประกอบการงานและ อาชีพ  หรือศึกษาต่อในระดับสูง(ปวส. ปวท. หรืออนุปริญญา/ปริญญาตรี)
4.   การศึกษาระดับอุดมศึกษา   เป็นการศึกษาหลังระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย   แบ่งออกเป็น  3   ระดับ   คือ
-  ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี   มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาความรู้และทักษะวิชาชีพในระดับกลางหรืออนุปริญญา(2  ปี) 
-  ระดับปริญญาตรี   มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาความรู้   ความสามารถในสาขาต่างๆในระดับสูง  โดยประยุกต์ทฤษฎีนำไปสู่การปฏิบัติ
-  ระดับสูงกว่าปริญญาตรี     มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาความรู้  และทักษะในสาขาเฉพาะทางให้มีความชำนาญมากยิ่งขึ้น   สร้างสรรค์ความก้าวหน้าและความเป็นเลิศทางวิชาการ   โดยเฉพาะการศึกษา-ค้นคว้าวิจัย  และการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีในด้านต่างๆ  เพื่อการประยุกต์ใช้กับวิทยาการสากล  และภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย   การศึกษาในระดับนี้  ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษา  โดยจัดหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอก 
ส่วนประกอบของระบบการศึกษา
           ระบบการศึกษาประกอบด้วยส่วนสำคัญมี  4   ประการ   และมีความสัมพันธ์กัน   คือ
1.     ตัวป้อน          ( Input )
2.     กระบวนการ   ( Process )
3.     ผลผลิต          ( Out  put )
4.     ข้อมูลป้อนกลับ    ( Feed  back )
2.   ระบบการเรียนการสอน
ความสำคัญของระบบการเรียนการสอน 
1.การทำงานอย่างเป็นระบบนั้นสิ่งต่างๆที่เป็นองค์ประกอบของระบบ จะอยู่ด้วยกันอย่างมีระเบียบ   ไม่มีความสับสน   และไม่มีความขัดแย้งกันในองค์ประกอบเหล่านั้น
2.การทำงานอย่างเป็นระบบจะเป็นไปได้ด้วยความสะดวก   รวดเร็ว   ประหยัดทั้งแรงงาน  เวลา และค่าใช้จ่าย
3.งานทุกอย่างจะสำเร็จตามเป้าหมายและได้ผลอย่างเต็มที่
4.การสอนอย่างเป็นระบบนั้นเป็นแนวทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถจะพิสูจน์ทดลองได้
ระบบการเรียนการสอน  เป็นระบบย่อยในระบบการศึกษา  หรือระบบโรงเรียน  ระบบการเรียนการสอนประกอบด้วยส่วนย่อยต่างๆซึ่งมีความเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน  ส่วนที่สำคัญ คือ  กระบวนการเรียนการสอน  ผู้สอนและผู้เรียนการเรียนการสอนจะมี  -ประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด  จะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ในส่วนต่างๆในระบบ   การตรวจสอบของประสิทธิภาพของการเรียนการสอนนั้นได้โดยการประเมินผล  และเมื่อผลที่ออกมายังมีข้อบกพร่องก็จะต้องไปปรับปรุงส่วนประกอบในระบบต่างๆต่อไป
องค์ประกอบที่สำคัญในการเรียนการสอน
ในกระบวนการเรียนการสอนทุกระดับ   จะประกอบด้วย  5   องค์ประกอบ   คือ
-องค์ประกอบที่ 1  ผู้สอน
ผู้สอนจะต้องมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้แก่ผู้เรียนมาก  จนถึงกับมีความเชื่อกันว่าผู้สอนจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้สูงกว่าผู้เรียนมากจึงจะเกิดผลดีแก่การถ่ายทอดความรู้  ถ้าผู้เรียนกับผู้สอนมีความรู้เสมอกัน  การถ่ายทอดความรู้ก็จะไม่เกิดผล
-องค์ประกอบที่ 2  ผู้เรียน
ผู้เรียนนับว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในกระบวนการเรียนการสอนมาก  ก่อนที่ผู้สอนจะลงมือทำการสอนจะต้องศึกษาผู้เรียนให้ละเอียดทุกด้านก่อนที่จะลงมือสอน  และในขณะเดียวกันผู้สอนจะต้องศึกษาตนเองคือ  ศึกษาหาความรู้  และยุทธวิธีที่จะนำไปใช้ในการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในแนวทางที่ต้องการ
-องค์ประกอบที่ 3  หลักสูตร
หลักสูตรเปรียบเสมือนเข็มทิศ หรือ แผนที่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในกระบวนการเรียนการสอนที่จะบ่งบอกให้ผู้เรียนได้รับทราบว่าจะมีวิธีอย่างไรที่จะทำให้ไปสู่จุดมุ่งหมายได้

-องค์ประกอบที่ 4  สื่อการสอน
สื่อการเรียนการสอน   หมายถึง  เครื่องมืออุปกรณ์ทั้งหลาย เช่น ชอล์ค กระดานดำ  แผนภูมิ  แผ่นภาพ  ตำราวารสาร  หนังสือ  ฯลฯ  วิธีการใช้สื่อการเรียนการสอนจะต้องใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของผู้เรียน และสอดคล้องกับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมของผู้เรียนและผู้สอนด้วย
-องค์ประกอบที่ 5  การวัดและการประเมินผล
               องค์ประกอบของการเรียนการสอนที่สำคัญประการสุดท้ายนี้ก็คือการวัดผลและประเมินผล  ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญขององค์ประกอบในการเรียนการสอน  ในแผนภูมิที่ 11  จึงจัดเอาการวัดผลประเมินผลไว้ตรงกลาง และเชื่อมโยงลูกศรไปยังองค์ประกอบอื่นๆอีก   4  ด้าน   การวัดผลประเมินผลในองค์ประกอบการเรียนการสอนนั้นเป็นส่วนที่สำคัญมาก  และจะใช้ข้อมูลย้อนกลับ (Feed  back) ไปสู่การปรับปรุงทั้งผู้สอน  ผู้เรียน  หลักสูตร  และสื่อการเรียนการสอน
            ในการจัดการเรียนการสอนนั้น   รูปแบบและระบบการเรียนการสอนรวมทั้งขั้นตอนกระบวนการรูปแบบการเรียนการสอนจะช่วยให้การสอนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ  และประสิทธิผล  ทำให้ครูและนักเรียนเห็นองค์ประกอบที่สัมพันธ์กัน  ประหยัดเวลา  งบประมาณและประเมินผลได้สะดวก  ซึ่งทำให้เห็นข้อบกพร่องของการดำเนินงานและสามารถปรับปรุงได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น